วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

จดหมายจากคุณพ่อ บาทหลวงศวง ศุระศรางค์


ประกอบการบรรยาย จาก:คุณพ่อศวง ศุระศรางค์ Savong Surasarang (fathersavong@hotmail.com) ส่งเมื่อ:6 เมษายน 2553 2:36:39

สมนึกและวรรณาที่รักและคิดถึงเสมอ
พ่อได้รับอีเมลย์ของเธอแล้ว รูปสวยมากๆ พ่อยังเปิดอีเมลย์ไม่เก่ง ต้องใช้เวลาเปิดตั้งนานกว่าจะเปิดได้และก็ยังไม่สมบูรณ์ดีด้วย แต่ก็จะพยายามต่อไป ขอบใจมากๆนะ พ่อดีใจมาำำกที่ได้มีโอกาสรู้จักเธอทั้งสองและคนอื่นๆด้วย ในโอกาสเสวนาครั้งนี้ และพ่อก็ดีใจที่ได้มีโอกาสได้พูดเรื่่องจิตตารมณ์เครดิตยูเนี่ยนในโอกาสนี้ ด้วย หวังว่าคงช่วยให้หลายๆคนเข้าใจเรื่องจิตตารมณ์เครดิตยูเนี่ยนดีขึ้น และมีกำลังใจทำงานเครดิตยูเนี่ยนด้วยความยินดีและสุขใจมากขึ้นด้วยเป็นแน่
พร้อมกับอีเมลย์ตอบของพ่อนี้ พ่อได้ส่งบทความประกอบการบรรยายของพ่อมาให้สมนึกและวรรณาด้วย ไม่ทราบว่าจะได้ผลหรือเปล่า ช่วยตอบให้พ่อทราบด้วยนะ คงจะต้องใช้เวลาโหลดนานหน่อย เพราะข้อความมันยาวพอสมควร คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนบ้างเป็นแน่
ความจริงพ่อได้เขียนบทความเกี่ยวกับเครดิตยูเนี่ยนไว้มาก เป็นบทความสั้นๆเป็นข้อคิดสะกิดใจให้สมาชิกเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของ เครดิตยูเนี่ยนได้ดีมากขี้นเยอะเลย
ไว้จะทะยอยส่งให้โอกาสต่อไปนะ
ฝากความคิดถึงสมาชิกทุกคนทั้งที่ได้ไปเสวนาและไม่ได้ไปด้วยนะครับ คนที่ไม่ได้ไปอย่างน้อยก็ได้เห็นรูปพ่อก็ยังดีเป็นแน่ ขอพระเจ้าอวยพรทุกท่านให้สุขกายสบายใจตลอดไปด้วยครับ และขอให้เครดิตยุูเนี่ยนเพื่อพัฒนาชีวิตเจริญก้าวหน้าและมั่นคงยิ่งขึ้นด้วย
ขอให้ทุกท่านสุขกายสบายใจตลอดไปด้วย
คุณพ่อศวง ศุระศรางค์
เสวนาเรื่อง ธุรกิจก้าวหน้า สหกรณ์ก้าวไกล ใส่ใจจิตตารมณ์

โดย ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด สาขาภาคใต้

ณ ห้องทะเล ในโรงแรมร้อยเกาะ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี

3-4 เมษายน พ.ศ.2553

เสวนะ , เสวนา ก. คบ, พูดจากัน

น. การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ธุรกิจ

ธุร, ธุระ น. หน้าที่การงานที่พึงกระทำ

ธุรกิจ น. การงานประจำเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือ

กิจการอย่างอื่นที่สำคัญที่ไม่ใช่ราชการ

กิจในพระศาสนา

1.การเล่าเรียน เรียกว่า คันถธุระ

2.การปฏิบัติทางใจ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ

ธุรกิจก้าวหน้า สหกรณ์ก้าวไกล

สหกรณ์

สห ว. ด้วยกัน, พร้อมกัน, ร่วม, ร่วมกัน

สหกรณ์ น. งานร่วมมือกัน เช่น ทางธุรกิจ หรือ อุตสาหกรรม เพื่อหากำไร หรือเพื่อ

ประโยชน์อื่นๆ ในงานนั้นๆ ร่วมกัน

สหกรณ์ คือ คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน และได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

เครดิต เชื่อเสียง หรือความเชื่อถือในตัวบุคคลหรือ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ความเชื่อถือในฐานะทางการเงินของบุคคลหรือสถาบัน

ยูเนี่ยน รวมกัน, เป็นหนึ่งเดียวกัน, ด้วยกัน

เครดิตยูเนี่ยน การรวมกลุ่มของชุมชน เพื่อช่วยเหลือกันและกัน อย่างจริงจังและจริงใจด้วย ความรักแท้ โดยมีคุณธรรม 5 ประการ (เบญจคุณธรรม 5 ประการ) เป็น หลักประกัน คือ

1.ความซื่อสัตย์

2.ความเสียสละ

3.ความรับผิดชอบ

4.ความเห็นใจกัน

.ความไว้ใจกัน

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำกัด คือ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนที่ได้รับการจดทะเบียน เป็นสหกรณ์ ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์แล้ว

จิตตารมณ์เครดิตยูเนี่ยน

จิต, จิตต์ : ใจ, วิญญาณ

อารมณ์ : เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ (รูป, เสียง, กลิ่น, รส ฯลฯ)

: ความรู้สึก, นิสัยใจคอ, ความเป็นไปแห่งจิตใจในขณะหนึ่งๆ เช่น อารมณ์ร้อน

จิตตารมณ์ : ความรู้สึกของจิต , นิสัยจิต

จิตตารมณ์เครดิตยูเนี่ยน : ความสนใจ, ห่วงใย, แบ่งปันและรับใช้ นั่นคือ ความรักแท้

ธุรกิจก้าวหน้า สหกรณ์ก้าวไกล ใส่ใจจิตตารมณ์”

สหกรณ์จะเจริญก้าวหน้า ก้าวไกล อย่างกว้างขวาง มีชื่อเสียงโด่งดัง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นประโยชน์มากมาย แก่บรรดาสมาชิก และสังคมรอบข้าง และประเทศชาติได้อย่างดี ดูบ่ายนี้

โดย นายเพิก เลิศวังพง (รองผู้จัดการใหญ่ ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน)

“ใส่ใจจิตตารมณ์เครดิตยูเนี่ยน” จะทำให้สหกรณ์มั่นคง ยั่งยืนถาวร เป็นที่ไว้วางใจแก่มวลสมาชิกและประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดียิ่ง

สถาบันการเงินไหน หมู่ คณะ องค์กร องค์การใด แม้สถาบันศาสนา ถ้าขาด หรือไม่มีจิตตารมณ์ของกิจการนั้นๆ แล้ว สถาบันนั้นๆ ไปไม่รอดแน่ๆ

ฉะนั้น จิตตารมณ์ จึงต้องถือว่า เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกๆ กิจการต่างๆ อย่างแน่นอน

จิตตารมณ์เครดิตยูเนี่ยน

- ความสนใจ

- ความห่วงใย

- การแบ่งปัน

- การรับใช้

- ฯลฯ

ทั้งหมดนี้รวมอยู่ที่ ความรัก และต้องเป็นความรักแท้ด้วย

ทุกคนมีความรักในหัวใจตั้งแต่เกิด รัก พ่อ-แม่ ญาติ-มิตร แน่นอน รักตัวเองก่อนอื่นทั้งหมดด้วย แต่ถ้ามีแต่ความรักตัวเองเท่านั้น โดยไม่รักคนอื่นเลย ก็กลายเป็นความเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ ก็เป็นความรักที่ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ความรักแท้แน่นอน

ความรักมีหลายอย่าง เช่น ความรักระหว่าง พ่อ-แม่-ลูก

ความรักระหว่าง พี่น้อง, พี่ ,ป้า,น้า,อา,ญาติ,มิตร

ความรักระหว่างคู่รัก คู่หมั้น

ความรักระหว่าง สามี-ภรรยา

ความรักทั้งหลายทั้งปวง มีอยู่ 2 ชนิดคือ

1.ความรักแท้ , บริสุทธิ์

2.ความรักไม่แท้ , จอมปลอม

ความรักคืออะไร ทุกคนรู้ดี เข้าใจง่าย แต่พูดยาก อธิบายลำบาก

ผู้รู้ทั้งหลายพยายามจะอธิบายว่า ความรักแท้คือ ความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ เป็นฝ่ายให้ เป็นฝ่ายยอมเสียสละ อดทน อภัย และอื่นๆ มากมาย ก็น่าจะใช่ แต่ถ้าคิดให้ลึกๆ ก็ยังไม่น่าจะใช่ นั่นเป็นเครื่องหมายของความรักที่แสดงออกมาเป็นรูปธรรม รักแล้วต้องเสียสละ รักแล้วต้องอดทน ฯลฯ ใช่ไหมครับ

หลายท่านบอกว่าความรักแท้คือ ความอิ่มใจ สุขใจ ปลาบปลื้มใจ ความยินดีเต็มเปี่ยม ท่วมท้นหัวใจ ฯลฯ ก็น่าจะใช่ แต่ถ้าคิดให้ลึกๆ นั่นก็ยังไม่ใช่ความรัก นั่นเป็นผลของความรักแท้ต่างหาก จริงไหม

ฉะนั้นความรักแท้จริงๆ มันเป็นอะไร นี่เป็นคำอธิบาย ส่วนตัวของผมนะครับ ใครจะอธิบายอย่างอื่นก็ย่อมได้นะครับ ความรักเป็นนามธรรม คือ ความพยายามที่จะรวมคนตั้งแต่สองคนหรือมากกว่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง โดยมีเครื่องหมายภายนอกเป็นรูปธรรมให้เห็นได้ เช่น อดทน, อภัย ฯลฯ นั่นเป็นความรักแท้ สมบูรณ์แบบ ดังเช่น ครอบครัวไหน, คณะไหน, สังคมใด, ประเทศใด ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือความรักที่ปรากฎออกมาเป็นรูปธรรม คือ ความซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นใจกัน และไว้ใจกัน ฯลฯ แล้วก็จะเกิดผลแห่งความรัก คือ ความยินดี ความสุข สันติ ฯลฯ ในสังคม หรือ ประเทศชาตินั้นๆ ด้วย

ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของหลายๆ ชิ้น หลายๆ ส่วน รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ตามจุดประสงค์ หรือเป้าหมายของมัน แต่ละอย่าง ก็เป็นความครบครัน บริบูรณ์ เช่น เครื่องจักร โรงงาน ดาวเทียม ฯลฯ ก็จะดำเนินงานไปอย่างราบรื่น

ส่วนความรักไม่แท้ ความรักจอมปลอม หรือเป็นเพียงแต่ความใคร่ ทางเนื้อหนังเท่านั้น จะเป็นความรักที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ ไม่อดทน ไม่ให้อภัย หวังผลประโยชน์จากคนรักเท่านั้น ทุกคนต้องทำตามที่เขาต้องการ ฯลฯ ความรักแบบนี้น่ากลัว และอันตรายมากๆ เลย

ทางพุทธศาสนาจึงกล่าวไว้ว่า “ความรัก (ไม่แท้) เป็นเหตุแห่งทุกข์” เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัยเลย

พระเยซูตรัสไว้ว่า “ในโลกนี้ไม่มีความรักไหนใหญ่ยิ่งกว่า การยอมตายแทนคนรัก” (ยน. 15:1)

ผมเคยถามหนุ่มสาวหลายคู่ ก่อนแต่งงานว่า รักกันจริงไหม มากไหม ยอมตายแทนกันได้ไหม ต่างคนต่างยิ้ม แต่ไม่มีใครกล้าตอบว่า ยอมตายแทนกันได้ แม่ที่รักลูกจริงๆ จะตอบทันทีโดยไม่ลังเลใจได้เลยว่า ยอมตายแทนลูกได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ยกเว้นแม่ที่เอาลูกไปทิ้งในถังขยะให้มดแดงกัด นั่นไม่ใช่แม่แท้ เพราะลูกเกิดมาไม่ใช่จากความรักแท้ แต่มาจากความใคร่ทางเนื้อหนังเท่านั้น

นักบุญเอากูสติน นักปราชญ์ในศาสนาคาทอลิก พูดไว้เป็นคำคมว่า ที่ไหนมีความรัก (แท้) ที่นั่นไม่ลำบาก ที่ไหนลำบาก ความรัก(แท้) จะช่วยให้ความลำบากบรรเทาลง หรือหายไปได้ คิดดูให้ดีก็น่าจะเป็นจริง หนุ่มสาวที่รักกันใหม่ๆ ไม่มีอะไรลำบาก พ่อแม่ที่รักลูกจริงๆ เป็นต้นแม่ ดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่แรกเกิดจนโตใหญ่ ไม่ถือว่าเป็นความลำบาก แต่กลับดีใจ ภูมิใจที่ได้ทำทุกอย่างเพื่อลูกที่เขารัก จริงไหมครับ? นี่คือ รักแท้

พ่อไม่ใช่หมอดู แต่เดาได้เลยว่า หนุ่มสาวที่แต่งงานโดยไม่ใช่ด้วยความรักแท้ หนุ่มสาวคู่นั้นจะไม่มีความสุข และจะอยู่กันไม่นาน แต่ถ้าแต่งงานด้วยความรักแท้ บริสุทธิ์ จริงใจ เขาจะอยู่กันอย่างมีความสุขและยืนนาน จนถึง “ไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร” ได้เป็นแน่

มีคนมาถามพระเยซูว่า บัญญัติข้อใดเป็นเอก และสำคัญที่สุดในบัญญัติทั้งหลายทั้งปวงพระองค์ตรัสตอบทันทีเลยว่า จงรักพระเป็นเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ ด้วยสติปัญญา และด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน และรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง” (มธ.22:34-40)

ทางศาสนาพุทธ ศีล5 ย่อแล้วก็เหลือ ให้รักมนุษย์ทุกคนนั่นแหละ ทางศาสนาพุทธไม่ได้พูดถึงพระเจ้า แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือไม่ได้บอกตรงๆ ว่าไม่มีพระเจ้า

พ่อเชื่อมั่นว่าชาวพุทธทุกคนคงเชื่อว่าในโลกนี้ มี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เรามองไม่เห็น และมีฤทธิ์จะดลบันดาลอะไรให้เราได้ จะโดยวิธีใดก็แล้วแต่จะอธิบาย ฉะนั้น พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่จึงอวยพรให้ลูกหลานว่า ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก หรือในสากลจักรวาล จงดลบันดาลให้ลูกหลานมีความสุข ความเจริญ ฯลฯ ก็แปลว่าในใจก็ต้องเชื่อว่า ในโลกนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรามองไม่เห็นแต่ต้องมีฤทธิ์แน่ๆ ด้วย

จริงๆ แล้วท่านเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางคาทอลิก เรียกพระผู้เป็นเจ้า คนจีนเรียก เทียนจู้ อังกฤษ เรียก ก๊อด อิสลามเรียก อัลเลาะ ก็หมายถึงท่านองค์เดียวกันนี่แหละ เรียกคนละอย่างตามภาษาของตนเท่านั้น ฉะนั้นไม่ต้องไปเถียงกันว่าศาสนาของใครดีกว่ากัน ถูกผิดอย่างไร มากน้อยกว่ากันแค่ไหนอย่างไร ใครเชื่ออย่างไรก็ให้ถือตามอย่างนั้น อย่างซื่อสัตย์สุจริต ก็เป็นคนดีได้ทั้งนั้นแหละ

คนดีดูได้ที่ไหน เอาอะไรมาเป็นมาตรวัดว่าคนนี้ดี หรือไม่ดี ในใจของแต่ละคนคงตัดสินกันไม่ได้ แต่ภายนอกพูดได้ใช่ไหม คนนี้ดี เอาอย่างเขานะ คนนั้นไม่ดี อย่าเอาอย่างเขานะ ใช้อะไรเป็นเครื่องวัดหรือตัดสิน

คงไม่ใช่รูปร่างภายนอก เครื่องแบบ อาชีพ ฐานะ ตำแหน่ง ยศ เกียรติ และอื่นๆ แต่อยู่ที่การกระทำของแต่ละคน บางครั้งคนทำดีไม่ใช่คนดีเสมอไป ดั่งเช่น การสวดมนต์ การทำสมาธิ ดี แต่คนนี้สวดมนต์ทั้งวัน ทำสมาธิทั้งวัน โดยไม่ไปทำงานประจำ คนนี้ทำดีแต่ไม่ใช่คนดี เพราะทำดีไม่ถูกกาลเทศะ

ฉะนั้นคนดี คือคนที่ทำหน้าที่ของตนโดยดี ทุกคนมีหน้าที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะมีหลายหน้าที่ จากตำแหน่งที่ได้รับมาโดยธรรมชาติ หรือ แต่งตั้งก็ตาม ถ้าทุกคนทำหน้าที่จากตำแหน่งที่ได้รับมาโดยธรรมชาติ หรือ แต่งตั้งก็ตาม ถ้าทุกคนทำหน้าที่โดยดี เต็มกำลังความสามารถ ก็เรียกว่าเป็นคนดีแท้ๆ

แน่นอนว่าคงไม่มีใครเป็นคนดีเต็มร้อย หรือร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนมีข้อบกพร่อง ผิดพลาดบ้าง แต่เมื่อผิดพลาดแล้วก็พยายามแก้ไขดัดแปลง กลับตัวกลับใจ ทำดีใหม่ก็ยังถือได้ว่าเป็นคนดีได้ แต่ถ้ารู้ว่าผิดแล้วยังไม่ยอมแก้ไขดัดแปลงให้ดีขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังทำผิดต่อไปอีก ก็ไม่ใช่คนดีแน่ๆ

ตรงกับสุภาษิตฝรั่งที่ว่า ความผิดพลาดเป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่ดื้อรั้นในความผิด เป็นสันดานของปีศาจ ปีศาจไม่มีวันกลับตัวเป็นคนดีได้เลย

สรุปแล้ว จิตตารมณ์เครดิตยูเนี่ยนคือ ความรักแท้ บริสุทธิ์ในการช่วยเหลือกันและกันอย่างจริงจังและจริงใจ โดยมีคุณธรรมที่เป็นรูปธรรม 5 ประการนั้น เป็นหลักประกัน

ใครเป็นผู้ก่อตั้งเครดิตยูเนี่ยน

1.เครดิตยูเนี่ยนแห่งแรกในโลก

นายกเทศมนตรีชาวเยอรมัน ชื่อเฟดริก วิลเลี่ยม ไรฟ์ไฟเซน เกิด 30 มีนาคม 2361 เสียชีวิต พ.ศ. 2431 อายุ 70 ปี ท่านเป็นคนใจดี ใจบุญ ใจกว้าง พยายามช่วยเหลือคนจนด้วยวิธีต่างๆ มากมายหลายอย่าง ปรากฏว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร คนจนก็ยังจนอยู่อย่างเดิม แถมยังเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้นอีกด้วย

ที่สุดท่านพยายามรวบรวมคนรวยใจบุญ จัดตั้งธนาคารกองบุญ รวบรวมกลุ่มให้คนจนกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยเลย ปรากฏไม่ได้ผลอีกเช่นเคย

คราวนี้ท่านประชุมคนจน ชี้แจงแนะนำความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องรวมกลุ่มช่วยเหลือกันและกัน โดยมีกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่จำเป็น ทุกคนเห็นดีด้วย จึงได้จัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนแห่งแรกในโลก ชื่อ เฮด เดส ดอฟ เครดิตยูเนี่ยนพ.ศ.2407 ปรากฏว่าได้ผลดี น่าภูมิใจ

เมื่อท่านสิ้นชีวิต มีกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนเกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน 425 กลุ่ม ต่อจากนั้นก็ได้ขยายกว้างออกไปทั่วยุโรป อเมริกา แคนนาดา เอเชีย และทั่วโลก จนทุกวันนี้ นายเฟดริก วิลเลี่ยม ไรฟ์ไฟเซน ได้ชื่อว่า เป็นบิดาเครดิตยูเนี่ยนแห่งโลก

2.เครดิตยูเนี่ยนในประเทศไทย

พ.ศ. 2506 คณะสงค์เยซูอิตคาทอลิก จัดสัมมนาเรื่อง การพัฒนาเครดิตยูเนี่ยนระดับชาติ ที่บ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้แทนจากประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นไต้หวัน ฮ่องกง และไทยเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ เครดิตยูเนี่ยนจึงได้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พ.ศ.2507 บาทหลวงอัลเฟรด บอนแนงค์ คณะเยซูอิต และนายแพทย์ ชวลิต จิตรานุเคราะห์ จัดตั้ง ศูนย์กลางเทวาขึ้นที่สลัมห้วยขวาง เพื่อให้การอบรมศึกษาผู้ใหญ่ และช่วยเหลือคนจน โดยวิธีเครดิตยูเนี่ยนนี้เอง

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2508 คุณพ่อ บอนแนงค์ และนายแพทย์ ชวลิตได้จัดตั้ง กลุ่มออมทรัพย์พัฒนาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนศูนย์กลางเทวา นับว่าเป็นกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนแห่งแรกในประเทศไทย มีนายอัมพร วัฒนาวงศ์ เป็นประธาน รวมสมาชิก 13 คน รวมเงินหุ้นและทุนดำเนินงานได้ 360 บาท

เคริตยูเนี่ยนได้ขยายไปตามวัดคาทอลิกต่างๆ ทั่วประเทศไทย และเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับอย่างรวดเร็ว จนสามารถจัดตั้งเป็น ชุมนุมกลุ่มออมทรัพย์พัฒนาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2515 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ชุมนุมเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย

1 มกราคม 2522 เครดิตยูเนี่ยนได้รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ โดยอิงอยู่กับสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยมี สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแม่มูล จำกัด จ.อุบลราชธานี เป็นกลุ่มแรก

26 กุมภาพันธ์ 2522 ชุมนุมเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย ก็เปลี่ยนชื่อ เป็น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยจำกัด มีสำนักงานเป็นของตนเอง ตั้งอยู่ที่

6/2 หมู่ 3 ถ.รามคำแหง สะพานสูง กทม. 10240

Tel. 02-3730-020-1 , 02-3730-150-1

Fax. 02-3730-022

www.cultthai.com

e-mail : cult@cultthai.com

3.เครดิตยูเนี่ยน หรือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำกัด ในท้องถิ่นของท่าน

สมาชิกทุกคนควรจะต้องทราบ ความเป็นมาของเครดิตยูเนี่ยนของท่านว่า เป็นมาอย่างไร ใครบ้างเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง เมื่อไร มีปัญหาอะไรบ้าง คณะกรรมการรุ่นแรก เจ้าหน้าที่คนแรกเป็นใคร เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างไร ฯลฯ

สมาชิกมีความรู้เรื่องเครดิตยูเนี่ยนมากน้อยแค่ไหน มีจิตตารมณ์ตรงกันหรือไม่ สมาชิกทุกคนต้องสนใจ รับรู้ความเป็นมาของเครดิตยูเนี่ยนของท่านด้วย เครดิตยูเนี่ยนของท่านจะเจริญก้าวหน้าด้วยความมั่นคง มั่นใจได้ตลอดไป

จุดประสงค์หรือเป้าหมายของเครดิตยูเนี่ยน

1.ความสำคัญและความจำเป็น ของจุดประสงค์ หรือเป้าหมาย

2.เพื่อช่วยเหลือกันและกันอย่างจริงจังและจริงใจด้วยความรักแท้

3.เพื่อพัฒนาคน สมาชิกให้เป็นคนที่ดีครบครันยิ่งขึ้น

- สุขภาพ

- การศึกษา

- การประกอบอาชีพ

- ศีลธรรม

สหกรณ์ออมทรัพย์ กับเครดิตยูเนี่ยนต่างอย่างไร

จากชื่อ

สห : ว. ด้วยกัน,พร้อม,ร่วม,ร่วมกัน

กรณ์ : น. คดี,เรื่อง,เหตุ,กรณีย์,กรียะ,กิจ

ว.อันควรทำ อันพึงทำ

สหกรณ์ : งานร่วมมือกัน คณะบุคคลซึ่งรวมกันดำเนินกิจการโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือซึ่ง กันและกัน และได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกณ์

สหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทย คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินเชื่อ ต.วัดจันทร์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยมีพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นนายทะเบียนพระองค์แรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2459 พระองค์ทรงเป็น บิดาสหกรณ์แห่งประเทศไทย

กฎกระทรวงสหกรณ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2548 มี 7 ประเภท

1.สหกรณ์การเกษตร 26 ก.พ. 2459 สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินเชื่อ

2.สหกรณ์ประมง พ.ศ.2492 สหกรณ์พิษณุโลกจำกัด

3.สหกรณ์นิคม

4.สหกรณ์บริการ พ.ศ.2484 สหกรณ์ผู้ทำร่มบ่อสร้างจำกัด สินเชื่อ อ.สินกำแพง จ.เชียงใหม่

5.สหกรณ์ร้านค้า พ.ศ.2480 อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

6.สหกรณ์ออมทรัพย์ 28ก.ย.2429 สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์จำกัด

7.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ.2548

กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนแห่งแรกในประเทศไทย เครดิตยูเนี่ยนศูนย์กลางเทวาห้วยขวาง กทม. จดทะเบียนเป็นสหกรณ์อิงกับสหกรณ์ออมทรัพย์กลุ่มแรกคือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแม่มูลจำกัด จ.อุบลราชธานี 17 กรกฎาคม 2508

1.สหกรณ์ออมทรัพย์ ต่างกับ เครดิตยูเนี่ยนตรงที่ว่า สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ต้องมีรายได้ประจำ เป็นเงินเดือน เมื่อสมาชิกกู้เงินไปแล้วสามารถหักเงินเดือนคืน ณ ที่จ่ายได้ ส่วนสมาชิกเครดิตยูเนี่ยน ไม่มีรายได้เป็นประจำเป็นเงินเดือน เมื่อกู้เงินไปแล้วสมาชิกต้องสัญญาจะนำเงินส่งคืนด้วยตัวเอง เป็นการหัดให้สมาชิกรู้จักรับผิดชอบ ในการบริหารด้วยตัวเอง ซึ่งน่าภูมิใจมากกว่า ต้องหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายเป็นไหนๆ

2.คณะกรรมการสหกรณ์ มีโบนัสประจำปี ไม่เกิน 5% ของกำไรสุทธิทุกๆปี แต่คณะกรรมการเครดิตยูเนี่ยนไม่มีโบนัสประจำปี แต่อาจจะมีของขวัญบ้าง เล็กๆ น้อยๆ เป็นการตอบแทนน้ำใจดีของคณะกรรมการ ตามที่ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกอนุมัติไว้

3.สหกรณ์มีสวัสดิการให้คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่และสมาชิก บางอย่างบางประการเท่านั้น แต่เครดิตยูเนี่ยนมีสวัสดิการให้คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ และสมาชิกทุกคน มากมายหลายอย่าง แตกต่างกันไป

ทำไมจึงต้องจัดตั้งเครดิตยูเนี่ยน

1.ตั้งแต่มีมนุษย์มาในโลกนี้ ก็มีปัญหาต่างๆ มากมาย

ส่วนตัว

ครอบครัว

สังคม

การบ้าน, การเมือง

สิ่งแวดล้อม

ระหว่างประเทศ
2.ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกสังคม ก็พยายามช่วยแก้ปัญหา

ด้วยตัวเอง ในครอบครัว ญาติมิตร

โดยรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะ

องค์กร องค์การ ระดับชาติ ระดับประเทศ ฯลฯ

รัฐบาล

ด้วยวิธีเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ตรงประเด็น และมีผลเป็นเลิศ

3.เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยเหลือกันและกันอยู่แล้ว

ท่านเห็นคนกำลังจมน้ำ

ท่านเห็นเพื่อนบ้าน เจ็บป่วย ตกทุกข์ได้ยาก ถูกข่มเหง รังแก

4.วิธีช่วย ต้องช่วยให้ถูกวิธีการ และตรงประเด็น

มิใช่โดยให้เปล่าๆ เสมอไป

และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นด้วย

ใส่ใจจิตตารมณ์

จิตตารมณ์เครดิตยูเนี่ยน คือ ความสนใจ, ห่วงใย, แบ่งปัน, รับใช้ นั่นคือ ความรักนั่นเอง

ความรักจะอยู่ยืดยาวนานและมั่นคง ต้องมีคุณธรรมที่เป็นรูปธรรม 5 ประการ (เบญจคุณธรรม) เป็นหลักประกัน คือ

1.ความซื่อสัตย์

2.ความเสียสละ

3.ความรับผิดชอบ

4.ความเห็นใจกันและกัน

5.ความไว้ในกัน

ความซื่อสัตย์
1.1ต้องมีศาสนาประจำใจ

1.2ขยัน

1.3เพียร, อดทน

1.4ประหยัด อดออม

1.5เลิก ลด ละ อบายมุข
ใช้เครดิตยูเนี่ยนเป็นเครื่องวัดความซื่อสัตย์

ความเสียสละ
2.1สนใจ ห่วงใย แบ่งปัน รับใช้

2.2ไม่เอาแต่ได้ ไม่เห็นแก่ตัว

2.3ช่วยเหลือผู้อื่น

- ทุกอย่าง - ทันที

- ยินดี เต็มใจ - สม่ำเสมอ

ใช้เครดิตยูเนี่ยนเป็นเครื่องช่วยและวัดความเสียสละ

ความรับผิดชอบ
3.1ความซื่อสัตย์ และความเสียสละ
3.2ทำตามคำพูด คำสัญญาโดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ

3.3ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
ใช้เครดิตยูเนี่ยนเป็นเครื่องช่วยและวัดความรับผิดชอบ
ความเห็นใจ
4.1ความซื่อสัตย์
, ความเสียสละ, ความรับผิดชอบ

4.2ยึดหลักประชาธิปไตย

4.3ทำงานร่วมกันให้ได้

4.4ช่วยค้ำประกันให้เพื่อน

ใช้เครดิตยูเนี่ยนเป็นเครื่องช่วยและวัด ความเห็นใจ

ความไว้วางใจกันและกัน
5.1ความซื่อสัตย์
, เสียสละ, รับผิดชอบ, เห็นใจ กัน

5.2ให้เพื่อนกู้เงิน

5.3ค้ำประกันให้กันและกัน

5.4ไม่ต้องคอยจับผิดกัน ไม่แคลงใจกัน

ใช้เครดิตยูเนี่ยนเป็นเครื่องมือช่วยและวัดความไว้วางใจกัน
1.ความซื่อสัตย์
1.1 ต้องมีศาสนาประจำใจ ศาสนาไหนก็ได้ เพราะทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาอย่างสม่ำเสมอด้วย ผิดพลาดแล้วต้องพยายามแก้ไข ปรับปรุงให้ดีขึ้นใหม่
1.2 ต้องขยันทำมาหากิน ประกอบอาชีพสุจริต คนขยันไม่จน ไม่อดตายแน่ๆ คนเกียจคร้านจะทำให้ตัวเอง และผู้อื่นเดือดร้อนด้วย

1.3 ต้องมีความเพียร อดทน ประหยัด อดออม คงจะต้องมีเงินเหลือเก็บไว้ใช้เวลาจำเป็น คนไม่ประหยัดใช้เงินเกินความจำเป็น มีเงินเท่าไรก็ไม่พอ

1.4 ต้อง เลิก ลด ละอบายมุขให้ได้ (อบายมุข แปลว่า ทางแห่งความฉิบหาย) หลายคน หลายครอบครัวต้องล้มละลาย เพราะติดการพนัน ติดยาเสพติด ฯลฯ

1.5 เครดิตยูเนี่ยนช่วยให้สมาชิกเป็นคนซื่อสัตย์เป็นรูปธรรม โดยฝากหุ้นเป็นประจำ สม่ำเสมอ ยาวนาน และเมื่อกู้แล้วก็ส่งคืนตามสัญญา ยิ่งหลายครั้ง หลายหน ก็ยิ่งทำให้สมาชิกมีเครดิตมากขึ้นด้วย

2.ความเสียสละ

2.1 หลายคนซื่อสัตย์ ไม่โกงใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่เบียดเบียนใคร แต่ก็ไม่ช่วยเหลือใคร ใครจะเป็นจะตาย ฉันไม่เกี่ยว ฉันไม่ยุ่ง ฯลฯ ก็นับว่าเขาเป็นคนดี แต่ยังไม่พอใช่ไหม เพราะเขาต้องเสียสละ ช่วยเหลือเพื่อนบ้างด้วย

2.2 บางคนเสียสละมีน้ำใจดี ช่วยเหลืองานวัดงานวา งานสังคมอย่างดีเลิศ แต่ไม่ซื่อสัตย์ ชอบขโมย ยักยอกของส่วนรวม และของผู้อื่นเสมอ ก็นับว่ายังไม่ใช่เป็นคนดีใช่ไหม น่ากลัว น่าอันตรายสำหรับสังคมอีกด้วย

2.3 ฉะนั้นเป็นคนซื่อสัตย์ ก็ต้องเป็นคนเสียสละด้วย เป็นคุณธรรมฝาแฝดก็ว่าได้ คนเสียสละต้องไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาแต่ได้ ต้องเป็นคนที่ สนใจ ห่วงใย แบ่งปัน และรับใช้ผู้อื่นด้วย ก็เกิดจากความรักจริงจังและ จริงใจนั่นแหละ

2.4 สมาชิกฝากหุ้นตามสัญญาอย่างสม่ำเสมอ หมายความว่า

- เขาจะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ฝากหุ้น เริ่มรวยแล้ว

- เป็นเครื่องหมายยืนยันว่าท่านเป็นคนซื่อสัตย์

- เป็นเครื่องหมายว่าท่านเสียสละช่วยเพื่อนด้วย เพราะเงินหุ้นของท่านนั่นแหละ

2.5 ยินดีช่วยผู้อื่นเสมอ

- ช่วยทุกอย่าง ทุกเมื่อที่สามารถจะทำได้

- ช่วยทันที โดยไม่รีรอ ไม่ชักช้า สุภาษิตลาตินบอกว่า “ใครทำบุญทันที เท่ากับทำบุญสองเท่า”

- ช่วยด้วยความยินดี และเต็มใจ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ความช่วยเหลือนั้นๆ มีคุณค่า มีบุญมากขึ้นหลาย เท่า ถ้าใครทำบุญด้วยจำใจ หน้าเง้าหน้างอ บุญหายไปเยอะเลย คนรับบุญก็คงไม่ดีใจเท่าไรนักด้วย

- ช่วยอย่างสม่ำเสมอ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

- ช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทนจากผู้รับ เสียสละแท้ ได้บุญเยอะ

2.6 เครดิตยูเนี่ยน ช่วยให้สมาชิกเสียสละอย่างแท้จริง และโดยเฉพาะคณะกรรมการ ที่ทำหน้าที่รับใช้โดยไม่มีเงินเดือน

3.ความรับผิดชอบ

3.1 ความซื่อสัตย์ และความเสียสละ ต้องมีความรับผิดชอบด้วย

3.2 ความรับผิดชอบในทุกๆ เรื่อง ตามหน้าที่ของแต่ละคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องเงินๆ ทองๆ

3.3 พยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เต็มกำลังความสามารถของตน แม้จะมีข้อบกพร่อง ผิดพลาดบ้าง ก็ให้พยายามแก้ไข ปรับปรุง ดัดแปลงใหม่ให้ดีขึ้น ก็ยังนับว่าเป็นคนดีได้ แต่ถ้าผิดแล้วไม่ยอมแก้ไข ยิ่งกว่านั้นยังจะจงใจทำผิดต่อไป ต้องนับว่าเป็นคนไม่ดี ไม่น่าให้อภัยด้วย

3.4 ใครรับผิดชอบในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะรับผิดชอบในเรื่องใหญ่ๆ ได้ด้วย

3.5 เครดิตยูเนี่ยนเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความรับผิดชอบ ของสมาชิกแต่ละคนได้เป็นอย่างดี จากสมุดบัญชีประจำตัวของสมาชิกนั่นแหละ

4.ความเห็นใจกันและกัน

4.1ใครมีความซื่อสัตย์ เสียสละ และรับผิดชอบ ต้องมีความเห็นใจกัน และกันด้วย จึงจะนับได้ว่าเป็นคนดีครบถ้วน มิฉะนั้นเขาจะทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้

4.2 ต้องยึดหลักประชาธิปไตย

4.3 ต้องทำงานร่วมกันด้วยความอดทน และอภัยกัน เพราะไม่มีใครดีเต็มร้อย แต่ก็ไม่มีใครเลวเต็มร้อยเช่นกัน

4.4 ยินดีค้ำประกันให้เพื่อนกู้เงิน โดยพิจารณาให้รอบคอบก่อน

4.5 สมาชิกต้องมีน้ำใจต่อคณะกรรมการที่ไม่มีเงินเดือนด้วย

4.6 เครดิตยูเนี่ยนสอนให้ทั้งสมาชิก และเป็นต้นคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่มีความเห็นใจกันและกันอย่างดี ในการทำงานร่วมกันอย่างดีที่สุด

5.ความไว้วางใจกันและกัน

5.1 ใครซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นใจเพื่อนๆ ก็จะมีความไว้ใจกันและกันได้

5.2 เมื่อเราไว้ใจกัน การกู้เงินก็ง่าย ส่งคืนก็ไม่ยาก

5.3 เมื่อเราไว้ใจกัน การค้ำประกันกันและกันก็ง่าย

5.4 เมื่อเราไว้ใจกัน เราก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข สันติ

5.5 เครดิตยูเนี่ยนเป็นเครื่องมือให้เราไว้วางใจกันและกันได้อย่างมั่นใจได้

สรุปแล้ว

ธุรกิจก้าวหน้า สหกรณ์ก้าวไกล ใส่ใจจิตตารมณ์

เรามนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ ทำงานร่วมกันได้ และเจริญรุ่งเรืองมั่นคงมีความสุข สันติในสังคมได้ต้องมี

1.น้ำใจดีต่อกัน นั่นคือ ความรักแท้นั่นแหละ

ตัวอย่างของน้ำใจ : ฉันให้จอบคนจนยืมไปทำสวน

คนจนคนที่ 1 เอาจอบมาคืน โยนทิ้งไว้ใต้ถุนบ้านฉัน ไม่พูดอะไรเลย

คนจนคนที่ 2 เอาจอบมาคืน ล้างเรียบร้อย บอกขอบคุณมาก

คนจนคนที่ 3 เอาจอบมาคืน ล้างเรียบร้อย บอกขอบคุณทุกวันๆ

คนจนคนที่ 4 เอาจอบมาคืน ล้างเรียบร้อย บอกขอบคุณ พร้อมกับ พริก มะเขือ ฯลฯ อย่างละถุงติดมือมาด้วย

คนจนคนที่ 5 เอาจอบมาคืน ยืมจอบแล้ว ไม่คืนจอบ เอาจอบไปเลย

พอจะเห็นน้ำใจคนให้ยืม และน้ำใจคนขอยืมได้ชัดไหม

2.แสวงหาความรู้ความสามารถในหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบด้วย คนมีน้ำใจดี และไม่มีความรู้ความสามารถ ก็ช่วยเพื่อนได้ไม่มาก บางครั้งอาจเป็นภัยเสียด้วยซ้ำ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเขา

3.ความเพียร ความอดทน อย่างสม่ำเสมอ มิใช่ถูกด่า ถูกว่านิดหน่อย ลำบากนิดหน่อย ก็เลิกทำงานไปเลย แม้ใครไม่ชม แม้ใครจะด่าจะว่า ก็ต้องอดทน ยิ้มแย้ม แจ่มใสทำดีต่อไป

4.ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ได้ แม้ความคิดเห็นจะไม่ตรงกัน ยินดี เต็มใจทำงานร่วมกันให้ได้ต่อไป

ทั้งหมดนี้ คือ จิตตารมณ์เครดิตยูเนี่ยนนี่แหละ ที่จะเอาไปใช้ในทุกธุรกิจ ในหมู่คณะ สังคม แม้ในรัฐบาลด้วยยิ่งดี จะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญก้าวหน้า ในสังคมนั้นๆ อย่างน่าชื่นชมยินดี เป็นอย่างยิ่ง

.................................................................................
ขอความสุข ความเจริญ ความสมหวังในชีวิตนี้ และสันติสุขในโลกหน้า คือ ในสวรรค์ จงมีอยู่แด่ สมาชิก เจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทุกแห่ง ทุกกลุ่มตลอดไปเทอญ สาธุ.

ขอฝากคำกลอนของบราเดอร์ ฮีแลร์ ผู้ที่เข้ามาสอนหนังสือในโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก พระนคร เป็นรุ่นแรกในประเทศไทย มีดังนี้
จงตื่นเถิด เปิดตา หาความรู้
เรียนคำครู คำพระเจ้า เฝ้าขยัน
จะอุดมสมบัติ ปัจจุบัน
แต่สวรรค์ ดีกว่า เราอย่าลืม

โดย บาทหลวง ศวง ศุระศรางค์

25 มีนาคม 2553



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น